หลังจากพระเยซูพำนักอยู่ที่แคว้นกาลิลีช่วงหนึ่ง (นานเท่าไหร่ก็ไม่รู้) พระองค์ก็เสด็จกลับไปยังเยรูซาเล็มอีกครั้ง เพื่อร่วมงานเทศกาลเฉลิมฉลองของชาวยิว
จริงๆแล้ว พระคัมภีร์ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า เป็นงานเทศกาลอะไร และไม่มีการอ้างอิงถึงเหตุการณ์นี้อีกเลยด้วย แต่เป็นไปได้ว่า น่าจะเป็น 1 ใน 3 เทศกาลหลักซึ่งโดยปกติ ผู้ชายชาวยิวทุกคนควรจะต้องเดินทางไปเข้าร่วม คือ เทศกาลปัสกา เทศกาลฉลองการเก็บเกี่ยว หรือ เทศกาลอยู่เพิง
ในพระธรรมยอห์น ได้ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า หลังจากพระเยซูเริ่มกระทำพระราชกิจ ทรงปรากฎตัวที่เยรูซาเล็มในเทศกาลปัสกา อย่างน้อย 3 ครั้ง (บทที่2, 6, 11) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น พระเยซูจะใช้เวลาในการทำพระราชกิจระหว่าง 2 ถึง 3 ปี บนโลกนี้
แต่หากว่า งานเทศกาลที่กล่าวถึงตรงนี้ คือ เทศกาลปัสกาครั้งที่ 4 ก็จะกลายเป็นว่า ทรงใช้เวลากระทำพระราชกิจระหว่าง 3 ถึง 4 ปี แทน ดังนั้น คำพูดที่บอกว่า พระเยซูใช้เวลากระทำพระราชกิจบนโลก 3ปีครึ่ง จึงอาจไม่ถูกต้องก็ได้ และโดยส่วนตัว ผมคิดว่า เรื่องระยะเวลาการทำพระราชกิจของพระเยซู ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องให้ความสำคัญมากนักในเชิงการดำเนินชีวิต (โดยเฉพาะ เพื่อเป็นเครื่องมือในการปลุกเร้าให้ผู้เชื่อเร่งรีบรับใช้พระเจ้า ดั่งเช่นที่พระเยซูทรงทำมาแล้ว) นอกเสียจากในเชิงประวัติศาสตร์พระคัมภีร์
ก่อนเข้าไปในเขตกำแพงเมือง ใกล้ๆ ประตูแกะ มีสระน้ำอยู่สระหนึ่ง ในภาษาอาลาเมค เรียกว่า เบธซาธา ซึ่งไวยากรณ์ในภาษาเดิมใช้เป็นปัจจุบันไม่ใช่อดีต แสดงให้เห็นว่า ขณะที่ยอห์นเขียนพระคัมภีร์นี้ ยังมีสระน้ำอยู่ เป็นหลักฐานสนับสนุนอีกจุดหนึ่งว่า พระธรรมนี้เขียนขึ้นในช่วงก่อนที่กรุงเยรูซาเล็มจะถูกทำลาย
สระเบธซาธา มีลักษณะโดดเด่น คือ เป็นสระน้ำคู่ มีทางเดินสูงล้อมอยู่ 5 ด้าน ไม่ใช่ศาลา 5 หลัง อย่างที่หลายคนอาจเข้าใจกัน ที่นี่จะเต็มไปด้วยคนเจ็บป่วยไม่สบายจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นคนตาบอด พิการ หรือ อัมพาต พวกเขาเชื่อว่า บางเวลาจะมีทูตสวรรค์มาทำให้น้ำกระเพื่อม ใครก็ตามที่เป็นคนแรกที่ลงไปในน้ำได้ คนนั้นจะหายดีจากการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่
พระเยซูเดินเข้าไปในบริเวณสระน้ำ ทรงเห็นชายคนหนึ่งนอนเจ็บอยู่ (ไม่รู้ว่าป่วยเป็นอะไรเหมือนกัน พระคัมภีร์บอกแค่ว่า ไม่สบาย) เมื่อพระองค์รู้ว่าคนนี้ไม่สบายมานานถึง 38 ปีแล้ว ก็ทรงถามเขาว่า "อยากหายดีหรือเปล่า" แต่ชายคนนั้นกลับตอบพระเยซูว่า เป็นเพราะเขาไม่มีคนช่วยพาไปที่สระเมื่อน้ำกระเพื่อม แม้เขาจะพยายามด้วยตัวเขาเอง แต่คนอื่นก็ไปถึงก่อนหน้าแล้ว
ปกติเราเห็นแต่ภาพที่คนเจ็บมาร้องขอให้พระเยซูรักษา แต่ครั้งนี้พระเยซูกลับถามเสียเอง ชายคนนั้นอาจจะรู้สึกท้อแท้ใจ และคงทำใจแล้วว่าตัวเองคงไม่มีทางหาย อาจจะนอนรอความตายอยู่ก็ได้ เขาพยายามแล้วพยายามอีกที่จะทำในสิ่งที่เขาเชื่อ เพื่อให้ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ... ฟังๆแล้ว ก็ไม่ต่างจากคนปกติอย่างพวกเราเท่าไหร่ เพียงแต่เรามีแรง และเรายังไปไม่ถึงจุดที่ "สิ้นหวัง" เราจึงยังทุ่มเทพยายามต่อไป ตามวิถีทางที่เราเชื่อ อาจจะต้องรอถึงเกือบ 40 ปี เราถึงจะหมดแรงและสิ้นหวัง ถึงเวลานั้น พระเจ้าคงมาเยี่ยมเยียนเรา คำถามนี้ อาจเป็นคำถามธรรมดาๆ ที่พระเยซูต้องการกระตุ้นให้เขามีความปรารถนา มีความหวังว่าจะหายดีอีกครั้ง
อย่างน่าอัศจรรย์ พระเยซูทรงรักษาเขาให้หายดีแม้เขาไม่รู้จักว่าพระองค์เป็นใคร พระองค์บอกให้เขาลุกขึ้น เก็บที่นอนแล้วเดินออกไปซะ แม้โดยปกติ การมีความเชื่อในพระเยซูจะเป็นสิ่งจำเป็นในการได้รับการรักษา แต่นี่แสดงให้เห็นว่า ฤทธานุภาพของพระเยซูทรงมีอย่างไม่จำกัด พระองค์ไม่ทรงถูกจำกัดด้วยความเชื่ออันจำกัดของเรา
ตอนแรกชายคนนั้นไม่รู้ว่า คนที่รักษาเขาเป็นใคร แต่เขาได้มีโอกาสเจอพระเยซูอีกครั้งในพระวิหาร และเขาได้รู้จักกับพระเยซูที่นี่ พระองค์บอกเขาว่า เขาหายดีแล้ว ให้หยุดทำบาป มิเช่นนั้นจะเกิดสิ่งที่แย่กว่ากับชีวิต
จริงที่ว่า ค่าจ้างของความบาปคือความตาย ผลที่ได้รับจากการทำบาป แย่ยิ่งกว่าการนอนเจ็บป่วยอยู่เกือบ 40 ปี เพราะเป็นผลนิรันดร์ แต่เราอาจจะไม่ต้องรอจนถึงหลังความตายก็ได้ บางครั้ง เมื่อเรารับการช่วยกู้จากพระเจ้าแล้ว เราก็เผลอลืมตัวไปตามความคุ้นเคยในการทำบาป หลงคิดไปว่าพระเจ้าทรงอภัยเราแล้ว ทรงอวยพรเราแล้ว มันจะไม่เป็นไร แต่พระเจ้าไม่เพียงทรงพระคุณ พระองค์ทรงยุติธรรมด้วย
พระเจ้า ทรงเปี่ยมด้วยความรักและพระคุณ แม้ในยามที่เราสิ้นหวัง หมดเรี่ยวแรง ยอมแพ้และขาดความเชื่อ พระเจ้าทรงช่วยเราได้อย่างอัศจรรย์ด้วยพระทัยกรุณาของพระองค์ แต่ พระคุณของพระเจ้านั้นมุ่งหวังให้เรากลับใจใหม่ หาก "พระคุณ" ใช้ไม่ได้ผล พระเจ้าอาจต้องใช้ "พระเดช" ตามสมควรกับที่เราควรได้รับ เพื่อให้เรากลับใจใหม่ในที่สุด
แต่จะด้วยวิธีการใดก็ตาม เชื่อเถอะว่าจุดเริ่มต้น คือพระองค์ทรงเมตตาสงสารเรา...
ประโยคแรกที่พระเยซูทรงตรัสถามชายคนนั้น วันนี้ อาจทรงกำลังถามเราด้วยก็ได้...
"อยากหายดีหรือเปล่าล่ะ?"
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น